Load Balance เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เหมือนๆกับรวม Internet 2 เส้นให้เป็นเส้นเดียว เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ผมคิดว่าจำเป็นต่อบริษัทที่ Internet เป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากๆ พอดีได้ Load Balance มาตัวนึงยี่ห้อ Peplink (ฟังชื่อยี่ห้อแล้วอยากเป็นหมอขึ้นมาทันทีเลยวุ้ย) ลองอ่านรีวิวดูละกันครับ
Load Balance รุ่นเก่าแก่ที่คนไอทีบ้านเราใช้งานกันมาอย่างยาวนานคือ Linksys RV042 ที่ตอนนี้ หลังจากโดน Belkin ซื้อไป ก็เงียบหายไปเลย ไม่ค่อยทำตลาดในบ้านเราอีก ต่อมาภายหลังก็มี Load Balance จากหลายยี่ห้อ เช่น TP-LINK , Zyxel ผ่านหูผ่านตาเข้ามาบ้าง แต่ผมก็ยังไม่เห็นตัวที่พอจะเอาชนะความนิยมของ Linksys RV042 ได้ซักเท่าไหร่ อาจจะเพราะว่า บรรดาคนทำ Network เห็น Feature ที่แทบไม่ได้อัพเกรดใน RV042 แล้ว ยอมไปลง ClearOS หรือ Linux Firewall ทำ Load Balance กันเอาเองล่ะมั้ง
ผมเองก็ใช้มาหลายยี่ห้อ จนกระทั่งเขียน Blog ตอน หอพัก / คอนโด / Office เน็ตช้า ทำยังไงดี ซึ่งตอนเขียนเสร็จ มีคุณ Chaiyanan มาแอบฝากร้านตรง Comment ข้างล่างครับ ผมเลยลองถามพี่แกดูว่า เห็นแปะมาหลายที่มากเลยครับ ส่งมารีวิวซักตัวไหมครับ ถามไปเล่นๆ แต่แกดันส่งมาจริงๆ อย่างงี้ก็ต้องทดสอบกันซักหน่อย
รุ่นที่ผมได้รับมาทดสอบก็คือ Peplink Balance One เป็นรุ่นเริ่มต้นในระดับ Small Business อื้อหือ หน้ากล่องประกาศกร้าวมาเลยทีเดียวว่า Unbreakable Internet Connections ป๋าจริงๆ
แกะกล่องออกมาตัวเล็กน่ารักดีครับ Port การเชื่อมต่ออยู่ด้านหน้าหมด ด้านหลังไม่มีอะไรนอกจากปุ่มเปิดกับช่องเสียบ Power Adapter
ถึงจะบอกว่าเป็นตัวเริ่มต้น แต่ Peplink Balance One ตัวนี้ก็ครบเครื่องนะครับ
- 2 x Gigabit Wan
- 8 x Gigabit LAN
- USB สำหรับเสียบ Aircard เพื่อต่อกับ 3G/4G
- มาพร้อม WIFI แบบ Dual Band ตามมาตรฐาน B/G/B
- Throughput สูงสุดได้ 600Mbps
- ตั้งตัวเองเป็น VPN Server ได้หลายมาตรฐาน ทั้ง IPSec / PPTP แถมยังมี PepVPN ของตัวเอง
- เป็น Access Point Controller ที่ไว้คุม Access Point ของ Peplink เองก็ได้
- มีระบบ InControl ที่ช่วย Monitor อุปกรณ์จากบน Cloud เลย
- มี Captive Portal ไว้เพื่อทำ Authentication ได้ในตัวเลย หรือจะเชื่อมกับ RADIUS Server ก็ได้
- Block เว็บได้
- มีระบบ Network Monitor ที่ดู Client ที่วิ่งผ่านระบบได้ว่า ใครใช้อะไรอยู่เท่าไหร่บ้าง
โดยรวมแล้วผมถือว่าครบเครื่องเลยทีเดียวเชียวล่ะ เอ้ามาลองจิ้มเปิดเครื่องเพื่อดูความสามารถกันหน่อยดีกว่า
จะว่าไปถ้าจะทดสอบ Load Balance ก็ต้องทดสอบกับ ที่ๆมี Internet 2 เส้น ผมก็เลยเอามาทดสอบกับ Site ลูกค้าที่นึงที่มี Concurrent User ประมาณ 80 – 90 Devices โดยเฉลี่ยเพื่อทดสอบดูว่าตัวมันสามารถรับมือกับอุปกรณ์ที่เยอะขนาดนี้ไหวหรือเปล่า
Internet 2 เส้นที่ใช้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ
- มี True Docsis ความเร็ว 100/10 Mbps เชื่อมต่อแบบ Bridge ที่รับ DHCP มาจาก Cisco Router
- CAT Fiber Optic ความเร็ว 30/3 Mbps ที่ทำ PPPoE ออกไปตรงๆ
หลังจาก Config อะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว หน้าแรกก็จะเป็น Dashboard ที่คอยสรุปสถานะของการเชื่อมต่อว่า WAN 1/2 อาการเป็นยังไงบ้าง ยังต่อดีอยู่หรือเปล่า Access Point ยังทำงานดีอยู่นะ แล้วก็ Uptime เท่าไหร่แล้ว (พอดีใช้เป็น Load Balance อย่างเดียวเลย Disable Wireless ไปครับ) มีบอกตัว CPU Load ด้วยว่าตอนนี้ใช้ไป 23%
ซึ่งหลังจากอ่านตัว Tech Document ดู ผมพบว่า จุดเด่นที่สุดของ Peplink ก็คือ Load Balance Algorithm นี่แหละครับ
ย้อนกลับไปตรงต้นเรื่อง ถึงแม้ว่าผมจะบอกว่า Load Balance ทำหน้าที่เหมือนรวม Internet 2 เส้นให้เป็น เส้นเดียว แต่นั่นเป็นคำอธิบายเพื่อให้เข้าใจหน้าที่การทำงานแบบง่ายๆเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง Load Balance รุ่นก่อนทำหน้าที่สลับการเชื่อมต่อ โดยอ้างอิงจาก Bandwidth ทั้ง Internet ทั้ง 2 เส้นครับ ยกตัวอย่างเช่น
ถ้า Internet เส้นแรก ความเร็ว 10Mbps เส้นที่สองความเร็ว 5 Mbps .. ดังนั้น Round Robin Ratio ก็คือ 2:1
นั่นหมายความว่า ตัว Load Balance จะถีบคนที่จะออก Internet ไปทางเส้นหนึ่งเป็นจำนวน 2 คน แล้วค่อยถีบไปยังเส้นสอง 1 คน สลับกันไปแบบนี้ (ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ได้สลับเป็นคน แต่สลับเป็น Session ครับ แต่ถ้าอธิบาย Session อีก เดี๋ยวจะยาว เรียกเป็นคนนี่แหละเข้าใจง่ายดี)
แต่ Peplink ได้ทำ Load Balance Algorithm ขึ้นมาทั้งหมด 7 แบบด้วยกันเพื่อให้เราเลือกกำหนดเป็น Rule ได้ว่า การเชื่อมต่อแบบไหน จะใช้ Load Balance Algorithm แบบไหนนั่นเอง โดยทีทั้ง 7 แบบ มีดังต่อไปนี้ครับ
- Weight Balanced : กำหนดคนที่จะออกเน็ตโดยยึดจาก ความเร็วของ Internet ในแต่ละเส้น เส้นไหนเร็วสุด หรือมี Bandwidth เหลือมากสุด เส้นนั้นจะถูกเลือกให้เป็นเส้นที่ส่งออก Internet ให้กับ Client นั้นๆ (ใช้งานง่ายสุด อันนี้คือให้ Load Balance ช่วยคิดว่าเส้นไหนเร็วสุด ก็ออกเส้นนั้นไปเลย)
- Priority : กำหนดลำดับขั้นให้กับ Internet แต่ละเส้น แล้วเส้นไหนลำดับสูงสุด ก็ให้ออกที่เส้นนั้น และถ้าเน็ตเส้นนั้นหลุดหรือมีปัญหาก็จะย้ายไปส่งข้อมูลที่ลำดับถัดไป
- OverFlow : กำหนดลำดับขั้นให้กับ Internet แต่ละเส้น แต่จะส่งไปเส้นถัดไปก็ต่อเมื่อ Internet ในเส้นแรกหนาแน่นแล้วหรือเกิดการ Congestion แล้ว
- Persistence : เป็น Algorithm ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขการเชื่อมต่อแบบ Persistent Connection ทั้งหลายเช่น HTTPS หรือ SSH ทำให้เมื่อเราส่งข้อมูลออกจาก WAN ไหน ขากลับก็จะรับกลับจากขานั้นเพื่อให้การเชื่อมต่ออยู่บน WAN เดิม (ใครใช้ Internet Banking จะเป็นจะต้องใช้ Feature นี้เลยครับ)
- Enforced : บังคับให้ Connection นั้นๆ ออกเน็ตเส้นนี้ตลอด ไม่ว่าจะล่มหรือช้าแค่ไหนก็ไม่สนใจ
- Lowest Latency : Latency คือ ความเร็วในการตอบสนองของข้อมูลที่วิ่งอยู่บนเน็ตเส้นนั้นๆ พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ Ping ออกไปแล้ว เส้นไหน กลับมาเร็วสุด เอาเส้นนั้นแหละ เหมาะมากกับขาเกมออนไลน์ที่ต้องการความฉับไวของข้อมูล
- Least Used : Peplink จะตรวจสอบว่าเน็ตเส้นไหน เหลือ Bandwidth เยอะที่สุด ก็จะเลือกเน็ตสั้นนั้นสำหรับออก Internet ไป
Algorithm ทั้ง 7 นี้ ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องเลือกอย่างใดอย่างนึง คุณสามารถเลือกผสมกันก็ได้
ถ้าเป็นผม ผมตั้งไว้แบบนี้ครับ
- HTTPS กับ SSH ต้องเลือกแบบ Persistence อยู่แล้ว ไม่อย่างงั้นการเชื่อมต่อจะหลุด
- HTTP เฉยๆ ที่เอาไว้ใช้สำหรับเปิดเว็บทั่วๆไป ใช้แบบ Weight Balanced
- Lowest Latency เอาไว้ใช้กับเกมออนไลน์
- Download ไฟล์ผ่านระบบ P2P ให้ใช้แบบ Least Used
แต่ก็ขึ้นอยู่กับ Service ที่คุณใช้งานบนเครือข่ายของคุณนะครับ เค้ามีมาให้ 7 แบบเลือกใช้ผสมกับ Protocol ได้ตามใจชอบเลย
จุดเด่นอย่างที่สองที่ผมชอบอีกเรื่องก็คือ ตัว Network Monitor ครับ ซึ่งส่วนใหญ่เจอแต่พวกหน้าตาดูยากๆ ทั้งน้านนน นานๆทีจะเจอ Network Monitor ใน Router ที่ดูง่ายขนาดนี้
หน้า Monitor ที่สามารถแยก Protocol แล้วบอกได้ว่า แต่ละ Protocol มีคนใช้งานอยู่กี่ Session รวมไปถึงบอกด้วยว่า WAN 1 กับ 2 มีคนใช้งานอยู่เท่าไหร่
หน้า Client List บอกหมดว่าแต่ละคนใช้ Bandwidth เท่าไหร่ แถมทำ Sorting จากมากไปน้อยได้ด้วย
หน้า Bandwidth Monitor ที่มีกราฟบอกความเร็ว ทั้งแบบ Real Time / รายชั่วโมง / รายวัน / รายเดือน
จุดที่ชอบอย่างที่สาม คือระบบ InControl2 ที่เป็นระบบที่คอย Monitor อุปกรณ์ผ่านระบบ Cloud ได้ ทำให้ช่วย Monitor อุปกรณ์จากภายนอก โดยที่ไม่ต้อง Remote เข้าไปที่ Site
ตัว InControl2 สามารถดูแลอุปกรณ์ของ Peplink ได้ทุกตัว ทั้ง Load Balance / Access Point / ดูจำนวน Client ที่ต่อผ่านอุปกรณ์ต่างๆ แยกกันก็ได้ เช่นใครต่อผ่าน LAN / Wireless
ปิดท้ายด้วย ระบบ Notification ที่จะแจ้งเตือนเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ผมตั้งไว้ว่า ถ้า WAN 1 / 2 มีการอาการสายหลุด หรือ ping ไปยัง Google DNS ไม่ได้เป็นเวลา 30 วินาที ให้แจ้งผมด้วย ผลก็คือ แจ้งแบบรัวยับเลยครับ ฮ่าๆ
สรุปความรู้สึกหลังจากที่ทดสอบใช้งานมาประมาณ 1 อาทิตย์กับ Site ที่มี Client ประมาณ 70-80 คน
- ความเสถียรสูงมาก ไม่ช้า ไม่งอแง ไม่ Hang งี่เง่า
- ระบบ Peplink Load Balance Algorithms ทั้ง 7 แบบทำให้เลือกรูปแบบในการกระจายข้อมูลออกทั้ง 2 WAN ที่ผมมีได้ดีมาก
- ระบบ Monitor ดูง่าย ดึงข้อมูล SNMP ไปดูก็ได้
- ระบบ Incontrol2 ก็เจ๋งดี ตอนนี้อุปกรณ์ Network ส่วนใหญ่ก็จะมี Cloud มาควบคุมอยู่แล้ว แต่จะอยู่กันบน Enterprise อันนี้เป็น Small Business ตัวแรกๆที่เห็นเลยครับ
- Balance One ครบเครื่องดี ถ้า Office คุณขนาดประมาณซัก 40 ตรม หรือมีคนทำงานซัก 40-50 คน ใช้มันตัวเดียวอยู่เลยครับ
- อ้อ ใช่แล้ว ทำ Inbound Load Balance ได้ด้วยนะครับ เกิดคุณมี Server อะไรซักอย่างตั้งอยู่ที่ Office แล้วอยากจะให้คนนอกเข้ามาใช้งานแต่กลัว Internet เส้นเดียวไม่พอ สามารถทำ Load Balance ย้อนกลับจากขาออก เป็นขาเข้า เพื่อเพิ่ม Bandwidth ให้ Server ข้างในได้ด้วย
ขอบคุณทาง http://cyn.co.th/ สำหรับ Peplink Balance One ที่ส่งมาทดสอบด้วยนะครับ สำหรับราคา สอบถามทาง Dealer ที่จัดจำหน่ายโลดเลยครับ