ผมตั้งเป้าไว้กับตัวเองเมื่อปี 2014 ว่า ถ้าเกิดปั่นเจ้า Bianchi Impulso เสือหมอบคันแรกของผมครบ 5,000 กิโลเมื่อไหร่ จะขอเปลี่ยนไปเล่นจักรยานคาร์บอนบ้าง ซึ่งระหว่างปี 2014 ที่ปั่นอยู่ ก็ทำการบ้านในการเลือกจักรยานคาร์บอนคันต่อไปไว้ค่อนข้างเยอะมาก เรียกได้ว่าเปิดเว็บบอร์ด Thaimtb.com จนกระทั่งจอยโกรธอ่ะครับ ดูมันทั้งวัน จนสุดท้ายแล้ว คาร์บอนคันแรกของผมก็ออกมาเป็น Trek Madone 5.2 คันนี้แหละครับ
ทีนี้ ปัจจัยในการเลือกจักรยานคาร์บอนคันใหม่ของผมมีดังต่อไปนี้ครับ
- เฟรม มือสองในราคาไม่เกิน 40,000 บาท
- รองรับชุดเกียร์ไฟฟ้า เผื่ออัพเกรดในอนาคต
- องศาการขับขี่แบบกลางๆ ไม่ต้องก้มเอาแอโร่มากนัก
- ดูแลรักษาง่าย
ค้นไปค้นมา ตัวเลือกมีอยู่ 5 ตัวด้วยกันครับ
ตัวแรกก็คือ Giant Propel เฟรมแอโร่ตัวล่าสุดจากค่าย Giant ที่ว่ากันว่าเป็นเฟรมแอโร่ที่คุ้มราคาที่สุดของวงการ
ตัวเลือกที่ 2 ก็คือ Cannondale CAAD10 .. ตัวนี้ไม่ใช่คาร์บอน แต่เป็นอลูขั้นเทพที่แพงกว่าคาร์บอนบางตัวเสียอีก ผมเคยยืมของเพื่อนมาปั่นถึงกับสะท้านในความสติฟติดเท้าของมัน
ตัวเลือกที่ 3 NICH Signature เฟรมคาร์บอนสายพันธุ์ไทยที่ผ่านการทดสอบมาอย่างยาวนาน มีแชมป์ไทยหลายคนใช้ยี่ห้อนี้อยู่ก็มาก แฟนๆชาวไทยใช้กันเองก็เยอะ ผมกับชินที่เป็นเจ้าของก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องโรงเรียนเดียวกันมาก่อน ร้านของ NICH ก็อยู่ใกล้บ้านโคตรๆ เรียกได้ว่า เรื่องเซอร์วิสไม่มีผิดหวังแน่นอน
ตัวเลือกที่ 4 Specialized Tarmac Pro SL3 .. รถสาย All Round ที่มีดีกรีแชมป์แปะอยู่เยอะมาก เลือกรุ่น Pro แถมปีเก่าอย่าง SL3 ที่ไม่ใช่ S-Work เพราะเหตุผลเดียวเลยครับ งบไม่ถึง ฮ่าๆ
ปิดท้ายด้วยตัวเลือกสุดท้ายก็คือ Trek Madone 5.2 คาร์บอนกลางค่อนข้างไปทางสูงของ Trek คือถ้ามีงบก็อยากซัก Trek Madone 7 อยู่หรอกครับ แต่เฟรมแสนกว่าบาทนี่ไม่ไหวจริงๆ
และด้วยตัวเลือกที่ผม List มา ผมก็ควานหาในบอร์ดของมือสองของ Thaimtb อย่างสุดฤทธิ์ โดยเป้าหมายหลักก็คือ Trek Madone 5.2 เพราะผมดันไปถูกใจ สีทีม Radioshack Nissan Trek เมื่อปี 2012 มากๆ เรียกได้ว่าเห็นสีแล้วกริ๊ดดดดเลยแหละ
ก็พยายามตามหา Trek สีนี้จากใน Thaimtb .. แต่อย่างที่เค้าว่าครับ ถ้าหากชะตากรรมมันไม่ต้องกัน ของมันไม่ใช่ ยังไงมันก็ไม่ได้อยู่กับเราหรอก ซึ่งตลอด 1 ปีที่ตามหามาเนี่ย ก็ไม่ใช่ว่าไม่เจอนะครับ
เจอคันที่ใช่ แต่ Size ไม่ได้
Size ได้ แต่ราคาไม่โดน
Size ได้ ราคาโดน แต่อยู่ต่างจังหวัด ไกลซะจนไปรับไม่ไหว จะให้ส่งไปรษณีย์ไทยก็เกินเร้าใจ
Size ได้ ราคาโดน ของอยู่ใกล้ด้วย แต่พี่ท่านเล่นตัดซางของจักรยานซะสั้นกุดแล้วผมจะไปขี่ได้ยังง้ายยยย
สุดท้ายในจังหวะที่กำลัง เริ่มตัดใจไปเล็งตัวอื่น ก็ดันไปเจอ เจ้าเฟรม Trek Madone 5.2 คันนี้ แขวนอยู่ในร้าน CycleSquare ตรงพระราม 3 .. ดู Size มาเป็น 54 พอดีเป๊ะ แถมซางยังไม่ตัด สีดำตัดเทาถึงไม่เรียกว่าถูกใจ 100% แต่ก็ไม่แย่ แถมยังมี หลักอานคาร์บอน , ตัวเซนเซอร์ DuoTrap , กระโหลกลูกปืน Enduro , ก้ามเบรค Ultegra แบบแอโร่แถมเจ้าของยังเอาฟิล์มเคลือบมาทั้งคัน เรียกได้ว่า สภาพโคตรดี ปล่อยมาในราคา 38,000 บาท ผมเห็นนี่กริ๊ดดดดเลยครับเอาแค่ของแถมก็เกือบๆ 10,000 บาทเข้าไปแล้ว
ผมขอลองต่อราคาดูที่ 35,000 บาท พี่แก โอเค เลยยกกลับบ้านมาเลยครับ ฮ่าๆ
ผมได้รถมาวันแรก คือวันที่ 19/02/2015 … ยกไปประกอบที่ร้าน Cycling Project ของพี่อิ๊ดในวันถัดมา โดยยกอะไหล่ทั้งหมดจาก Bianchi Impulso ของผมไป ใช้เวลาประกอบประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้สายเกียร์ของ Jagwire ใหม่ทั้งชุด พร้อมโซ่และเฟืองใหม่ สรุปน้ำหนักที่ไม่รวมกระติกน้ำอยู่ที่ 7.72 กิโลครับ ถือว่าเบามากๆเลยทีเดียว
พอได้รถเสร็จแล้วก็ขอตั้งชื่อที่เป็นมงคลซักหน่อย เลยขอตั้งชื่อเจ้า Trek Madone 5.2 คันนี้ ว่า มากุโร่ … ว่ะ ฮ่า ฮ่า จงโจนทะยานดุจดั่งปลาทูน่าแห่งทะเลแอตแลนติก
เอาล่ะ เล่ามาซะยาว ยังไม่เห็นรีวิวซะที ว่าเจ้า Trek Madone 5.2 นี่มันเป็นรถยังไง
ก่อนอื่นก็ต้องขอเล่าถึงประวัติของรถยี่ห้อ Trek ก่อนนะครับ ผมเริ่มสนใจยี่ห้อนี้ก็เพราะว่า Lance Armstong แชมป์โลก Tour De France 7 สมัยที่โดนริปตำแหน่งเพราะข้อหาโด๊ปยา แกใช้รถ Trek นี่แหละครับ โดยส่วนตัวผมถือว่า รถ Trek มีเทคโนโลยีพอตัวเลยทีเดียว แล้วก็ทำรถสวยแบบเรียบๆ นะ คือสีไม่ฉูดฉาดเหมือน Colnago , De Rosa จากอิตาลี นั่นแหละ
เสือหมอบของ Trek มีอยู่ 3 Series ด้วยกัน
Madone : อ่านว่า มาโดน เป็นรถแอโร่ ปั่นทางเรียบของ Trek ถึงหน้าตามันจะไม่ได้แอโร่ แต่จากการวิจัยในอุโมงลมแล้ว ท่อทรงหยดน้ำ KVF นี่ก็ลดแรงเสียดทานและแรงต้านอากาศใช่ย่อยเหมือนกัน
Domane : อ่านว่า โดมาเน่ เป็นรถสาย Endurance ของ Trek ครับ Domane เป็นเสือหมอบที่ออกแบบมาให้ปั่นได้ยาวนานเพราะเฟรมมีเทคโนโลยีชื่อ ISO Speed ในการซับแรงกระแทกจากสภาพถนน
Emonda : อ่านว่า อีมอนด้า เป็นรถสายไต่เขาของ Trek .. จุดเด่นของ Emonda คือเบาสลัดๆ รุ่น Top คือ Emonda SL10 หนักแค่ 4.6 กิโลกรัมเท่านั้น แม่เจ้า!!! เป็นรถ Complete Bike ที่ขายจากผู้ผลิตโดยที่ไม่ดัดแปลงอะไรที่เบาที่สุดในโลกครับ
สำหรับจุดเด่นของ Trek Madone 5 ก็จะมีดังต่อไปนี้ครับ
อย่างแรกเลย ท่อนอนที่เป็นทรงหยดน้ำ ที่เรียกว่าท่อแบบ KVF (Kamtail Virtual Foil) เป็นท่อที่ทาง Trek แกไปเข้าทดสอบอุโมงลม มาแล้วพบว่าทรงนี้จะมีค่าแรงเสียดทานกับลมน้อยที่สุด บอกตามตรงผมก็ไม่ค่อยรู้สึกนะ แต่ไอ้อุโมงลมเนี่ย ก็ทดสอบกันทุกเจ้า แล้วก็เคลมกันทุกเจ้าว่า ของตัวเองแรงเสียดทานน้อยสุดกันทุกคน เลยไม่รู้ว่ามันชัดแค่ไหนครับ ฮ่า
ท่อคอ E2 ขนาดใหญ่และตะเกียบขนาดใหญ่ ที่ออกแบบให้แอโร่ และ สติฟ สุดๆ ทำให้การยืนโยกของเราส่งน้ำหนักแรงกดไปยังจักรยานได้โดยที่ไม่สูญเสียแรง
เบรคแบบ Direct Mount .. ทุกทีเบรคของ เสือหมอบจะเป็นแบบยึดตรงกลางแค่จุดเดียว แต่ Trek Madone 5.2 ตัวนี้รองรับเบรคแบบใหม่ที่เรียกว่า Direct Mount ครับ มันจะยึด 2 จุดซ้ายขวา เพื่อทำให้ก้ามเบรคมีแรงบีบมากขึ้น แต่เบรคที่ติดมากับรถ Trek Madone 5 เนี่ย ทุกสำนักรีวิว เขียนเหมือนกันหมดว่า เป็นเบรคที่ไม่ค่อยจะมีแรงเอาซะเลย ทุกเจ้าแนะนำเหมือนกันหมดว่าให้หาเบรคอื่นมาเปลี่ยนครับ
Duotrap Sensor .. เป็นอะไรที่ผมชอบมากในรถ Trek นะ เวลาที่ผมใช้ Garmin Sensor เพื่อวัดรอบขา และความเร็วล้อ มันจะมี Sensor ต่างหาก ให้มาประกบกับตะเกียบหลัง แล้งรัดด้วย Cable Tile เอา แต่ของ Trek เค้าจะทำช่องไว้ให้ใส่ Sensor ของ Trek เองที่ชื่อว่า Duotrap Sensor รองรับทั้ง รอบขาและความเร็วล้อ แถมเป็นมาตรฐาน ANT+ .. มาตรฐานกลางสำหรับอุปกรณ์ออกกำลังกายสายจักรยาน ดังนั้น Sensor นี้สามารถเชื่อมกับ Garmin , Sigma , CATEYE ได้หมดครับ ทำให้รถเราสวยขึ้นโดยที่ไม่ต้องแปะ Sensor ใหญ่ๆของ Garmin . แหม่ ผมล่ะชอบจริงๆเลย
Trek Madone 5 เพราะชื่อรุ่น 5 มาจากใช้ Carbon OCLV สูตร 500 ของ Trek นี่แหละครับ .. Trek ที่เป็นคาร์บอน จะมีตั้งแต่รุ่น 3 ไปจนถึงรุ่น 7 .. ก็คือใช้ คาร์บอนเกรด 300 ไปจนถึง 700 นั่นแหละ ยิ่งรุ่น Top ก็จะยิ่ง Stiff แต่เบามากขึ้น โดยที่ราคาก็จะกระโดดกันแบบไม่เกรงใจกระเป๋าตังค์ เคยถามคนที่ปั่น Trek Madone 6 เค้าบอกว่า เหมือนกับรุ่น 5 เลย ฟิลลิ่งคล้ายๆกัน ดังนั้น ถ้าไม่ได้ปั่น Trek Madone 7 ก็เอารุ่น Madone 5 ก็พอแล้วล่ะครับ
https://www.youtube.com/watch?v=wjVTtk1WwuI
อันนี้เป็นวีดีโอทดสอบ OCLV Carbon ของ Trek .. เค้าบอกว่า เวลาขี่จักรยานเนี่ย จุดที่โดนแรงกระแทกมากที่สุด ก็คือ ท่อล่าง กับตะเกียบหลัง ที่จะต้องรับน้ำหนักตอนกระแทกโดยตลอด ทาง Trek เลยเสริมชีลเพิ่มเข้าไปเพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น เค้าทดสอบด้วยการใช้ลิ่มตอกไปบนเฟรมเลยครับ การทดสอบอันแรกเป็นเฟรมอลู ผลก็คือ เฟรมเป็นรอยบิ่นและเกิดอาการล้าขึ้น ส่วนเฟรมคาร์บอนทั่วไป ก็เป็นรอยแตกหลังจากโดนซัดด้วยลิ่มเลย แต่พอเป็นเฟรมคาร์บอนสูตร OCLV พบว่าเป็นแผลที่พื้นผิวเท่านั้น แต่ไม่มีผลกับคุณภาพของ คาร์บอนเลยครับ
กระโหลกของ Trek Madone 5 เป็น กระโหลกแบบ BB90 ครับ .. หนา ใหญ่ เพื่อความสติฟ ในการควงขา กดบันได .. จะว่าไป ผมพูดคำว่าสติฟบ่อยมากๆ คนในวงการจักรยานจะรู้จักกันดี แต่คนนอกวงการอาจจะไม่เข้าใจ Stiff คือ ค่าการให้ตัวของวัตถุครับ เวลาเราปั่นจักรยานด้วยการส่งแรงเข้าไปผ่านบันได พวกวัสดุ อย่าง อลูมิเนียม คาร์บอน โครโมลี่ พวกนี้ มันไม่ได้อยู่ทรงเดิมตลอดนะครับ มันจะมีการบิดตัวนิดๆหน่อยๆด้วย ซึ่งการบิดตัวมากๆเนี่ย มันไม่ดีครับ เพราะเหมือนกับเราใส่แรงลงไปด้วยกำลังซัก 100 หน่วย แต่โดยความย้วยของวัสดุ ทำให้แรงที่เราส่งไปหายเหลือ 80 หรือ 85 อะไรแบบนี้ เฟรมคาร์บอนใหม่ๆก็เลยมีการออกแบบให้กระโหลกใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดการย้วยเวลาปั่น ทำให้กำลังที่เรากดลงไปที่บันไดส่งไปถึงจักรยานและพื้นถนนด้วยแรง 100 เต็มๆนั่นแหละครับ
และกระโหลก BB90 ก็เป็นขนาดกระโหลกที่ใหญ่มากของทาง Trek .. ถ้าจะให้ติ อย่างเดียวก็คือ Trek มันเล่นทำเป็นของ Trek อย่างเดียว หากจะเปลี่ยนอะไหล่ ก็ต้องไปใช้ของ Trek เท่านั้น หาของยี่ห้ออื่นมาใส่แทนไม่ได้เลยครับ โคตรปวดหัว และพอกระโหลกพิสดาร เวลาจะเอาขาจานค่ายแปลกๆมาใส่ ก็ต้องหาตัวแปลงกันให้ปวดหัวครับ ยังดีผมใช้ Ultegra Groupset เรียกได้ว่าค่อนข้าง Standard เลยไม่ค่อยมีปัญหา
หลักอานคาร์บอนเพื่อความสบายตรูด ซึ่งของ Trek Madone 5.2 จะเป็นหลักอานแบบสวมที่ชื่อว่า Ride tuned seatmast ครับ หลักอานแบบนี้ จะไม่เหมือนหลักอานทั่วไปที่จะต้องมีแกนที่ยาวมากๆ เพื่อสวมเข้าไปในเฟรม แต่ Trek ใช้วิธี รวบตรงแกนหลักอานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเฟรมเพื่อความสติฟ แล้วก็ทำหลักอานมาครอบซะ ผลที่ได้ก็คือ ทำให้น้ำเบารถเบาลงอย่างมากครับ แถมสติฟอีกด้วย
ก้ามเบรคหลัง เป็นแบบซ่อนอยู่ใต้ล้อ เพื่อแอโร่ไดนามิค นี่เป็นอีกเรื่องที่ผมทั้งชอบและไม่ชอบในเวลาเดียวกัน ไอ้ที่ชอบก็คือ มันเท่ แปลกกว่าชาวบ้านดี ส่วนไอ้ที่ไม่ชอบก็คือ การเซอร์วิสเบรคหลังนี่แม่งโคตรยาก ไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีขาจับจักรยานครับ เกิดมีปัญหาข้างนอกนี่ โคตรปวดหัวเลยล่ะ
และนี่ก็คือ รีวิวของเจ้ามากุโร่ Trek Madone 5.2 ของผมนี่แหละครับ โดยรวมๆ ตอนนี้ปั่นมาประมาณ พันกว่าโลแล้ว แถมลากไปปั่นที่ญี่ปุ่นด้วยกันมาด้วย เลยขอสรุปความรู้สึกคร่าวๆนะครับ
- ความรู้สึกต่างกับ Bianchi Impulso คันเก่าของผมแบบคนละขุม Bianchi Impulso ให้อารมณ์นุ่มสบาย ชวนหลับ แต่กดแล้วไม่มา แต่กับ Trek Madone 5.2 คันนี้ กดบันไดปุ๊บความเร็วก็มาปั๊บเสกได้ดั่งใจ
- เรื่องความนุ่มก็มีให้เต็มที่ เพราะเนื่องจากเฟรมคาร์บอนมันก็ซับแรงได้ดีมากอยู่แล้ว ผมลองเอาไปปั่นเลนเขียว ก็พอรับได้นะ กระเทือนแต่ก็ไม่ช้ำมาก
- ความเร็วเฉลี่ยในการปั่นแต่ละทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 กม/ชั่วโมงนะครับ ปั่นแบบธรรมดาด้วย ไม่ได้เร่งทำเวลาแต่อย่างใด
- พอเฟรมมันดีแล้ว จะใช้ล้ออะไรก็ไม่ค่อยรู้สึกนะครับ ตอนแรกผมใช้ล้อ Carbon NICH รุ่น ATEM2 ขอบ 40 ที่เป็นขอบอ้วน แต่มีปัญหาคือ พอใช้กับเฟรม Trek Madone 5 ตัวนี้ มันทำให้ยัดล้อเข้าไปแล้วจะพอดีกับก้ามเบรคมากๆ เรียกได้ว่าไม่เหลือระยะให้เลียเบรคกันเลยครับ บีบปุ๊บก็ล็อคล้อเลยแหละ ผมเลยไปสลับเอาล้ออลูของแฟนผมที่เป็น Fulcrum Racing Quattro มาใช้ ความรู้สึกก็ไม่ต่างกันมาก กลายเป็นคนไม่เรื่องมากเรื่องล้อไปเลย
- ตอนแรกที่จะเปลี่ยนรถมาเป็นคาร์บอนก็กังวลเรื่องความแข็งแรงเหมือนกัน เพราะเห็นฉากจักรยานคาร์บอนคว่ำแต่ละทีก็มีเฟรมแหลกสลายทั้งนั้น แต่พออ่านบทความนี้เรื่อง จักรยานคาร์บอนหักง่ายจริงหรือ? ของ duckingtiger.com ก็เลย เข้าใจเรื่องคาร์บอนมากขึ้น จึงตัดสินใจไปคาร์บอนได้ง่ายขึ้นครับ
และนี่คือ รีวิว Trek Madone 5.2 ของผมเอง ถึงจะเป็นเฟรม Model เก่า (ปี 2013) แต่ผมว่าเทคโนโลยีก็ยังไม่เก่ามาก แถมราคามือสองก็ไม่แพงมาก เผื่อใครสนใจอยากจะจัดบ้าง ก็ลองดูนะครับ