Home -> Blog -> กลับไปเป็นนักเรียนวิชา Network อีกครั้งนึง…

กลับไปเป็นนักเรียนวิชา Network อีกครั้งนึง…

เมื่อวันที่ 5- 9 พฤศจิกายน 2012 ผมได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งในคอร์สวิชา Network Monitoring and Management ของ สถาบัน AIT ที่จัดร่วมกับทาง Network Resource Startup Center (http://www.nsrc.org) คอร์สนี้ สอนกัน 5 วันติด ตั้งแต่ 9 โมงจนถึง 5 โมงเย็น อัดแน่นทั้งทฤษฏีและการทำ Workshop ซึ่งเมื่อเรียนเสร็จแล้ว ผมก็อยากสรุปความรู้ที่ได้จากคอร์สนี้ เผื่อจะมีใครสนใจแล้วไปเทรนนิ่งคอร์สหน้าด้วยกันนะครับ

 เนื่องจาก เค้าสอนกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า ผมจึงต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมง อาบน้ำแต่งตัวขับรถออกจากคอนโดที่อ่อนนุช เพื่อขับรถ ไปที่ สถาบัน AIT ที่อยู่ข้างๆธรรมศาสตร์รังสิต.. เชื่อผมเเถ๊อะ ถ้าคอร์สนี้ไม่ดีจริง ไม่มีทางลากผมลากจากเตียงตอน 6 โมงเช้าได้หรอก ขนาดนัดลูกค้า ผมยังนัดหลังเที่ยงเลย ฮ่าา.. เพราะฉะนั้นคอร์สนี้ไม่ธรรมดาแน่นอนครับ

ทุกวันจะต้องขับรถด้วยระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรในสภาพซอมบี้แบบนี้

ห้องเทรนนิ่ง ก็จะมีคนมาเข้าร่วมคอร์สนี้ประมาณ 22 คนด้วยกัน มาจากทั้งบริษัท Network , ISP แล้วก็จากทาง THNIC ที่เป็นผู้ให้บริการจด Domain ของประเทศไทยเยอะมาก เกือบๆ 10 คนแน่ะ แล้วก็มีน้องปั้น ที่มาจาก Young Webmaster Camp #10 …

Instructor ที่สอนก็มาจากองค์กรที่ชื่อว่า Network Resource Startup Center หรือที่ย่อว่า NSRC ครับ เป็นองค์กรที่ก่อตั้งมา 20 กว่าปีแล้วในการที่จะช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการวางระบบ Network “ที่ถูกต้อง” รวมถึงจัดเทรนนิ่ง ให้ความรู้ด้วยครับ ซึ่งทาง AIT เองก็เป็น Partner กับทาง NSRC ด้วย ดังนั้นก็จะมี คอร์ส Network แบบนี้ จัดขึ้นปีละ 2-3 ครั้งครับ

ท่านอาจารย์ของผมในคอร์สนี้มี 2 คนด้วยกันครับ คนขวาชื่อ Carlos Armas เป็นคนอเมริกาใต้ที่ไปอาศัยอยู่ที่แคนาดา ส่วนคนซ้ายชื่อ Phil Regnauld เป็นคนฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ใน Denmark ครับ สองคนนี่โคตรเก่งเลยครับ ผมถามเรื่องอะไรยาก เฮียแกตอบได้หมด แล้วอธิบายที่มาที่ไปได้แบบเป็นฉากๆ โอ้ เมพจริงๆ

Phil Regnauld and Carlos Armas.. You guys are so awesome in Networking..

ทั้ง Phil และ Carlos ก็ได้ขนเอาเครื่องมือสำหรับการจำลอง Workshop ในการสอนมาด้วย โดยครั้งนี้ เค้าใช้อุปกรณ์ แค่ Switch 2 ตัว + Wireless LAN 1 ตัว + Mini PC ที่ลง Linux ไว้เพื่อเป็น Firewall กับ  Mac Mini Server อีก 1 ตัวพร้อมกับ โปรแกรม VMWare เพื่อสร้างมาเป็น Network จำลองที่เชื่อมเอา Notebook ของคนที่มาเทรนทั้ง 22 คนให้กลายเป็น Network ขนาดมหึมาครับ

ตัวนี้คือ Switch ของ Cisco ที่รับเอา Internet จากทาง สถาบัน AIT เพื่อใช้งานใน Lab นี้ครับ

Switch 8 Port แบบ Managed ได้ของ 3Com กับ Wireless Router ของ Buffalo

Mac Mini ที่ทำหน้าที่เป็น VMWare จำลองเครื่อง Training ให้พวกเราหัดถึง 22 เครื่อง กับ ถ้าใครเห็นเครื่องสีดำๆ ที่ต่อกับสาย LAN สีเหลือง นั่นคือ Mini PC ที่ทาง Phil กับ Carlos ลงเอาไว้เพื่อทำเป็น Linux Firewall ครับ เครื่องเล็กมาก แต่ Port เพียบเลย

Network Diagram ของงาน Training ครั้งนี้

การสอนครั้งนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แถมทั้ง Phil กับ Carlos ยังพูดสเปนกับฝรั่งเศสได้อีกด้วย เรียกได้ว่า Course นี้ รองรับถึง 3 ภาษากันเลยทีเดียว และที่สำคัญ ..เครื่องมือของ Workshop ในการเทรนนิ่งครั้งนี้เป็น Linux ทั้งหมดเลยครับ ผมเหนื่อยมาก เพราะส่วนตัวเป็น System Administrator สาย Windows Server มาเลยตลอด ซึ่งแทบจะไม่ได้ใช้งาน Linux เลย งานนี้เจอ Command Line ของ Linux เข้าไปเต็มๆ 5 วัน อารมณ์เหมือน สิงโตที่ถีบลูกตัวเองลงเหว ต้องหาทางปีนขึ้นมาให้ได้เลยล่ะครับ ฮ่าๆ

หัวข้อที่ผมมาเทรนกันในครั้งนี้ชื่อว่า Network Monitoring and Management ครับ เป็นเรื่องพื้นฐานลำดับถัดมาที่ Network Engineer ต้องเรียนรู้หลังจากที่เรียนเรื่อง การเชื่อมต่อของ Network กันมาแล้ว ซึ่ง ทฤษฏีที่ทั้ง Phil และ Carlos นำมาสอนนั้น ก็ได้จากการนำเอาตำราเทพๆของ O’Reiley หลายเล่ม มาผสมกับประสบการณ์ของทั้ง 2 คนและ Open Source เทพๆหลายตัวด้วยกันครับ ซึ่งเนื่องจากผมเรียนมาจนสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะขอนำเอา Course นี้มาสรุปเป็นเนื้อหาสั้นๆ อ่านแล้วพอเข้าใจ ว่าทำไม เราจะต้องมีระบบ Network Monitoring and Management กันด้วยนะครับ

Network Monitoring คืออะไร

หลังจากที่เราต่อ Network ของเราให้ ตัวเองหรือลูกค้าใช้งาน สิ่งสำคัญก็คือ เราจะต้องรู้ว่า สถานะของ Network ของเราจริงๆแล้วเป็นยังไงกันแน่ มีอะไรบ้างวิ่งอยู่ไหน Network ของเรา และอุปกรณ์ของตัวทุกตัวทำงานได้อย่างปกติไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถไปยืนจ้องตัว Switch หรือ Router แล้วเราจะมองเห็น เพราะข้อมูลที่อยู่ใน Network ของเรานั้น ทั้งมีมหาศาลและมองด้วยตาเปล่า ไม่เห็น ดังนั้น เราจึงต้องทำการ Monitor (จับตามอง) ว่า Network ของเรานั้น อยู่ในสภานไหนกันแน่ สิ่งที่เราจะต้องดูก็ได้แก่

  • ระบบที่เราวางไป + Network ที่เราวางไป  สามารถเข้าถึงได้ไหม , ยังทำงานอยู่จริงๆหรือเปล่า (Available + Reachable)
  • ทรัพยากรของ Network ที่เราวางระบบไป เพียงพอต่อการใช้งานไหม ถ้าพอ แล้วยังเหลืออีกเท่าไหร่ ถึงจะไม่พอ แล้วถ้าไม่พอจะต้องทำยังไง (Maintain Availability)
  • ประสิทธิภาพของ Network เราเป็นยังไง ถึง Internet จะไม่ล่ม แต่ถ้าช้าจนใช้งานได้ไม่สะดวกเราจะรู้ได้ยังไง (Round-trip-time , Throughput)
  • อุปกรณ์ Network ที่เราซื้อมาเนี่ย มีการทำเอกสารไหม ว่า ซื้อมาเมื่อไหร่ ซื้อจากใคร ราคาเท่าไหร่ ประกันที่ไหน ถ้าเสียแล้วทำยังไง สาย LAN ห้องนี้จะลากไปไหน และ Configuration ที่เราทำใส่ไปใน Router มีคนทำเอกสารเก็บไว้ไหม แล้วถ้ามีคนอื่นมาแก้ เราจะทำยังไงง ในกรณีที่ Network มีผู้ดูแลระบบหลายคนที่มีสิทธิ์เท่าๆกัน อะไรแบบนี้

และนั่นคือสิ่งที่พวกเราชาว Network Engineer จะต้องทำการ Monitor หรือตรวจสอบดูครับ เพราะว่า อาวุธสำหรับในการวิเคราะห์สถานะของ Network เรา ในการไปต่อกรกับทั้ง หัวหน้าแผนก , ลูกค้า และคนอื่นๆ ที่พร้อมจะมาจับผิดเรา ก็ตือ “ข้อมูลนั่นเอง ”

แล้วเราจะเก็บข้อมูลอะไรกันบ้าง??

สถิติทั้งหมด เพื่อใช้ในการประเมินสภาพของ Network เราครับ มี Data In-Out เท่าไหร่ ใครส่งรับอะไรบ้างเพื่อเป็นค่า “Base line” ในการวิเคราะห์ตัว Network ทั้งหมด .. ซึ่งเจ้า Base Line เนี่ย ก็คือ สถาพของ Network เราตอนปกติไงครับ .. ถ้าเรามีข้อมูลพื้นฐานว่า Network เราปกติเป็นยังไง ตอนเกิดเหตุผิดปกติ เราก็จะรู้ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น คุณมี Internet ความเร็ว 10 Mbps แต่มีผู้ใช้งานอยู่ 10 คน คุณพบว่า ทุกวันจะใช้ Bandwidth อย่างน้อย 6Mbps โดยเฉลี่ย ถ้าคุณพบว่าอยู่ดีๆมีวันนึงที่ ค่า Download มันทะลุไป 10Mbps คุณก็จะรู้ได้ว่ามันผิดปกตินั่นเองครับ

กลับกัน ค่า Base line ที่ผิดปกติ บางทีอาจจะเป็นตัวบ่งบอกว่า Network อยู่ในสถานการณ์ที่ปกติก็ได้เช่น ถ้าเกิด Office คุณจะมีการจัดเทรนนิ่งให้คน 20 คนเข้ามาใน Office แล้วคุณพบว่า Network มันอืดๆ คุณก็อาจจะสามารถพอเดาได้ว่า สถานการณ์มันปกติ เพราะคนแค่มาใช้เยอะท่านั้นเอง

นอกจากค่าสถิติของ Network ทั้งหมดแล้ว เรายังต้องเก็บข้อมูลความผิดพลาเข้าไปด้วยนะครับ ซึ่งการเก็บข้อมูลความผิดพลาด จะช่วยในการสรุปงานส่งลูกค้าได้ว่า เดือนนี้ มีปัญหากี่ครั้ง เพราะอะไร และถ้าเราแก้ไขได้ มันก็จะเป็น Knowledge Base ให้กับทีมงานหรือลูกค้าของเราในการทำให้ปัญหาครั้งหน้า มันไม่มี หรือ แก้ไขได้เร็วขึ้นนั่นเองครับ

แถมถ้าเราเป็น Network Engineer สาเหตุที่เราต้องทำ Network Monitor ก็คือ เอาไว้ตรวจสอบว่าการให้บริการของเรานั้น ตรงตาม SLA (Service Level Agreement) ที่เราได้ให้สัญญาไว้กับลูกค้าหรือเปล่าด้วยครับ

เช่นถ้าเราสัญญาว่า .. บริการของคุณที่ให้ต่อลูกค้า จะการันตีว่า Network จะออนไลน์ต่อเนื่องไม่มีหลุดที่ Uptime 99.9% ..เราก็ต้องเก็บสถานะว่า เราทำให้มันได้ 99.9% จริงๆนะ ไม่งั้นลูกค้าก็อาจจะตัดเงินเลยก็เป็นได้นะครับ

แล้ว Network ที่มันมี Uptime 99.9% นี่มันจะต้องออนไลน์อย่างน้อยเท่าไหร่กันนะ

โดยรวมก็คือใน 1 เดือน Network ของคุณจะล่มได้แค่ 44 นาทีเองครับ โอยย แค่ reset เครื่องแค่วันละ 5 นาทีได้แค่ 9 รอบเองครับ แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยนั่นเอง

แถมการตรวจสอบว่า Network ของเรามันทำงานได้ดีเนี่ย ไม่ใช่ตรวจแค่ Link ออก Internet แล้วจะจบนะครับ ไหนจะเป็น Core Switch ทำงานปกติไหม .. จากห้องทำงานถึงห้อง Network ปกติไหม หรือ จาก Wireless LAN ปกติไหม .. เห็นไหมครับ ว่ามันเยอะขนาดไหนในการดูแล

เมื่อเราทำระบบ Monitoring เสร็จแล้วเราจะได้อะไรบ้าง

  • รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องทำการอัพเกรดระบบหรือต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ชิ้นไหน ถ้ามันจะกำลังเสีย เพราะคุณจะมีข้อมูลไปบอกหัวหน้าว่า สถานการณ์ของ Network เป็นยังไง และอุปกรณ์เป็นยังไง
  • มีฐานข้อมูลของ Network ตัวเองไว้ดูย้อนหลังและตรวจสอบได้ ทำให้ง่ายต่อการที่ ทั้งตัวคุณเองและเพื่อนร่วมงานที่เป็น Network Engineer เหมือนเข้า สามารถเข้าถึงข้อมูลของ Network ตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องมานั่งบอกกัน
  • ไว้กางเป็นบาเรียในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะข้อมูลจากระบบ Network Monitor เหล่านี้จะช่วยบอกให้รู้ว่า ปัญหาเกิดจากที่ไหน ทำให้เจ้านายหรือลูกค้า ทำอะไรเราไม่ได้ ว่ะ ฮ๋า ฮ่า..

เวลา Network มีปัญหา ถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ ก็อาจจะแค่เดินไปหาเจ้าหน้าที่ IT บอกปัญหา แล้วเจ้าหน้าที่ก็เดินมาแก้ แล้วก็จบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็อาจจะใช้ Word เขียนรายการส่งผู้จัดการ อะไรประมาณนี้ แต่สำหรับ Network ใหญ่ๆ ที่มีคนใช้เป็นพัน เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้หรอกครับ เพราะปัญหามันจะมาเยอะแล้วเร็วมากๆ

ระบบ Ticket ช่วยคุณได้

สิ่งหนึ่งที่ช่วยทำ Tracking ระหว่างส่วนของ NOC (Network Operation Center) กับปัญหาต่างๆก็คือ ระบบ Ticket ครับ มันเป็นระบบที่ช่วย รับเอาปัญหาจากสารพัดผู้คน ส่งต่อไปยังผู้ที่ดูแลรับผิดชอบ และ ทำการติดตามปัญหานั้นๆว่า มันได้รับการแก้ไขหรือยัง เป็นระบบที่ดีมาก เพราะจะคอยดูแลให้แต่ละปัญหาได้รับการแก้ไขและไม่ตกหล่นรวมไปถึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใน Loop ของปัญหานั้น ปรึกษากันได้โดยง่ายครับ ซึ่งในภาพรวมของการเกิดปัญหาในแต่ละส่วนเนี่ย NOC สามารถใช้เครื่องมือ + ระบบ Ticket ในการจัดการปัญหาได้แบบในรูปเลยครับ

This diagram is from nsrc.org

สรุปโดยรวมก็คือ Network Engineer จะไม่สามารถทำงานหรือตัดสินใจได้เลย หากขาดซึ่งข้อมูล และการจะได้มาซึ่งข้อมูลก็ต้องทำระบบ Network Monitoring ไว้ตรวจสอบ Network ทั้งหมดของเรานั่นเองแหละครับ

ผมขอทิ้ง Concept ของการทำ Network Monitoring ไว้เท่านี้ก่อน เดี๋ยวไว้จะมาเล่าต่อมาเครื่องมือแต่ละตัวที่อาจารย์นำมาสอน มันเป็นยังไง และนำใช้แล้วเกิดประโยชนฺ์แค่ไหน อย่าลืมติดตามนะครับ

 

Check Also

การเรียนรู้รูปแบบใหม่ของ ม.กรุงเทพ ที่ทำให้อยากกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

นี่คือความรู้สึกของผมจริงๆ ตอนที่นั่งฟังอยู่ในงานแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรใหม่ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2019 ที่ผ่านมานี่แหละ ต้องเล่าให้ฟังก่อน ที่ ม.กรุงเทพเนี่ย เป็นมหาวิทยาลัยที่จะใช้ Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ เป็นแกนกลางแล้วนำไปผสานกับเทรนด์อื่นๆของโลก เพื่อสร้างเป็นหลักสูตร …

157 comments

  1. Thank you อาจารย์ very much it quite useful for me. Even I am not network engineer but I kind of business development for Telecom industry. It quite easy to understand and practical. Wait for next session. @santithai123

  2. จริงครับ ถูกต้องแล้ว เป็นเหตุผลที่ประเทศไทยไป 4G ไม่ได้ เพราะขนาด 3G เรายังไม่มีจริงๆจังเลย

Leave a Reply